รายการบล็อกของฉัน

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สุขภาพน่ารู้ เตือนสารเคมีในบรรจุภัณฑ์อาหาร ส่งผลให้ ผู้ชาย มี เสน่ห์ น้อยลง


 สารบีพีเอที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาจทำให้ผู้ชายเป็นที่สนใจจากสาวๆ น้อยลง
 
 
เอเจนซี – นักวิจัยเตือนสารเคมีที่ทำให้เพศเปลี่ยนที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อาจทำให้ความสามารถในการดึงดูดเพศตรงข้ามของผู้ชายลดลง
      
งานศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรีพบว่า หนูเพศผู้ที่ได้รับสารบิสฟีนอล เอขณะเป็นทารก มีลักษณะของเพศผู้น้อยลง แต่มีพฤติกรรมบ่งชี้ลักษณะเพศเมียมากขึ้น
      
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชอริล โรเซนเฟลด์ ผู้จัดทำรายงาน กล่าวว่าสารเคมีดังกล่าวไปยับยั้งการผลิตเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่ผู้หญิงสามารถสัมผัสได้
      
“ลักษณะภายนอกของหนูที่ได้รับสารบีพีเอดูปกติดี แต่ที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ หนูตัวเมียไม่ต้องการผสมพันธุ์กับหนูเหล่านั้น
      
“นอกจากนี้ หนูที่ได้รับสารบีพีเอยังทำคะแนนในภารกิจการนำทางเชิงตำแหน่ง ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการค้นหาหนูตัวเมียในป่าต่ำที่สุด”
      
โรเซนเฟลด์สำทับว่า การค้นพบนี้อาจมีนัยครอบคลุมทั้งในแง่พัฒนาการและพฤติกรรมถึงสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ซึ่งรวมถึงมนุษย์ ที่มีความแตกต่างในด้านรูปแบบความคิดและพฤติกรรมโดยกำเนิดระหว่างเพศหญิงและเพศชาย
“ไม่ว่าผลการค้นพบนี้บ่งชี้ถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่ แต่ถือเป็นสิ่งที่ต้องกังวลอย่างชัดเจน”
      
ทั้งนี้ บิสฟีนอล เอ หรือบีพีเอ เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติก และเป็นหนึ่งในสารเคมีที่มีการผลิตอย่างกว้างขวาง พบได้ในสินค้าในชีวิตประจำวันนับร้อยรายการ อาทิ ขวดนม กล่องซีดี และบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ
      
เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้เลียนแบบฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน นักวิทยาศาสตร์มากมายจึงเชื่อว่า บีพีเออาจไปรบกวนวิธีการที่ร่างกายแปรรูปฮอร์โมน
      
แม้การศึกษากับสัตว์ทดลองหลายฉบับแสดงให้เห็นว่าบีพีเอมีความปลอดภัย แต่การทดลองอีกหลายฉบับกลับเชื่อมโยงสารชนิดนี้กับโรคมะเร็งเต้านม การทำลายตับ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และปัญหาในการเจริญพันธุ์
      
ในการศึกษานี้ หนูตัวเมียได้กินอาหารที่มีบีพีเอ 2 สัปดาห์ก่อนผสมพันธุ์และตลอดระยะเวลาการให้นม
      
ทั้งนี้ หนูตัวเมียเหล่านี้ได้รับสารบีพีเอในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) พิจารณาว่าไม่ก่อให้เกิดสารพิษและปลอดภัยสำหรับมารดา
      
หลังจากนั้นในช่วงหย่านม ลูกหนูจะได้กินอาหารที่ไม่มีสารบีพีเอ และถูกตรวจสอบพฤติกรรมเมื่อโตเต็มที่
      
นักวิจัยพบว่าลูกหนูที่ได้รับสารบีพีเอเป็นที่ต้องการของหนูตัวเมียน้อยกว่าปกติ โดยจะถูกหนูตัวเมียเชิ่ดจมูกใส่ ซึ่งตีความได้ว่าหนูตัวผู้ตัวนั้นไม่เหมาะสมทางพันธุกรรมที่จะผสมพันธุ์ด้วย
      
“เราสามารถใช้แนวทางวิวัฒนาการนี้ในการศึกษาสารบีพีเอเพื่อค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดในการประเมินความแตกต่างของความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีชนิดนี้ระหว่างเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิง” เดวิด เกียรี ศาสตราจารย์วิทยาศาสตร์จิตวิทยา มหาวิทยาลัยมิสซูรี แสดงความคิดเห็น
      
อนึ่ง งานศึกษาชิ้นนี้เผยแพร่อยู่ในวารสารโปรซีดดิ้งส์ ออฟ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น